การเลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563

Image

ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค

นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาบริหารจัดการของเสีย และขยะมูลฝอย โดยแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้มากที่สุด และนำผลพลอยได้จากขยะมาใช้ประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีภาระการกำจัดส่วนที่เหลือนอกโรงงาน
Image

ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ

สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ทีพีไอ โพลีน เปิดให้บริการทั้งหมด 12 สาขา
Image

ขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

แผน Zero Waste คือ จะต้องบริหารจัดการขยะเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องไม่ให้เหลือเศษใดๆที่จะเป็นภาระในการนำไปกำจัดนอกโรงงาน
Image

นายประชัย เลียวไพรัตน์

ประธานคณะกรรมการบริหาร
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Municipal Solid Waste-MSW) รายใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงผสมถ่านหินและเชื้อเพลิงขยะ (อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 100%) นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงขยะ และเป็นผู้ให้บริการกำจัดขยะ โดยมีโรงกำจัดขยะชุมชนใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยโรงงานกำจัดขยะทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

บริษัทเป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) โดยเชื่อมโยงกลยุทธ์ขององค์กรและกลุ่มทีพีไอโพลีนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)  เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านบรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม บนพื้นฐานการดูแลกำกับกิจการที่ดี (Environmental Social Governance : ESG)  เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)


ผลการดำเนินงาน

ในปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายรวม 10,990 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 4,835 ล้านบาท  โดยมีอัตราส่วนภาระหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (สุทธิ) ต่อ EBITDA เพียง 3.98 เท่า (Net IBD/EBITDA)

บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 3,653 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.88 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 2,813 ล้านบาท ในปี 2565 เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าฐาน (Base tariff) ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (FT Charge) ซึ่งชดเชยกับ Adder ที่ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงงาน             ปูนซิเมนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%  เมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2565 เนื่องจากปริมาณการผลิตของโรงงานปูนซิเมนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าจากรถไฟฟ้า EV ที่ปรับปรุงในระบบการผลิตของกลุ่มทีพีไอ       โพลีน อีกประมาณ 25 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุง boilers ที่ใช้ถ่านหินให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงขยะทดแทนได้ ทำให้โรงไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง และผลิตไฟฟ้าขายให้โรงงานปูนซิเมนต์ได้มากขึ้น โดยปริมาณการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซิเมนต์ในปี 2566 เติบโตประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา

 

เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. สำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน  จังหวัดสงขลา 7.92 เมกะวัตต์

                บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) แบบ non-firm ปริมาณผลิตไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 7.92 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 20 ปีกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เพื่อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะชุมชน จังหวัดสงขลา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ. สงขลา) ได้ประกาศให้บริษัทเป็นผู้ชนะในการประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในเดือนมีนาคม 2564 และบริษัทได้เซ็นสัญญาสัมปทานขยะกับ อบจ. สงขลาในเดือนกันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ใน ปี 2569 ซึ่งการเริ่มผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยเพิ่มผลประกอบการ และช่วยกำจัดขยะชุมชนในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของกลุ่มทีพีไอโพลีน โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะช่วยกำจัดขยะชุมชนได้ 400-500 ตันต่อวัน ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี โดยได้รับรายได้จากค่าขายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7.92 เมกะวัตต์ ในอัตรา 5.78 บาท/หน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาท/หน่วย สำหรับ 12 ปี ถัดไป

เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. สำหรับโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดมุกดาหาร 8 เมกะวัตต์

บริษัทได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ของเทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แบบ non-firm  ปริมาณผลิตไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 8 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1,800 ล้านบาท มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 388 ตันต่อวัน และมีมูลฝอยเก่าไม่น้อยกว่า 4 แสนตัน ตลอดอายุสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี โดยได้รับรายได้จากค่าขายไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ในอัตรา 5.78 บาท/หน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาท/หน่วย สำหรับ 12 ปี ถัดไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569

ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ AI Control for Grate Boilers

บริษัทมุ่งเน้นนวัตกรรมด้านการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 บริษัทได้ลงนามในสัญญาติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ AI Control for Grate Boilers เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิตไอน้ำของหม้อ      ไอน้ำ ทำให้มีปริมาณไอน้ำเพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โครงการนี้อยู่ระหว่างการขอรับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน

 

ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด อีก 71.90 เมกะวัตต์ รวมเป็น 511.90 เมกะวัตต์ ในปี 2567

บริษัทอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 71.90 เมกะวัตต์ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า Solar Farm 61.80 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Solar Roof Top 5.10 เมกะวัตต์  ในโรงงานปูนซิเมนต์และโรงงานกระเบื้องของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี กำลังการผลิตติดตั้งรวม 66.90 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 5 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 71.90 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซิเมนต์ ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน ในปี 2567 ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มจากเดิม 440 เมกะวัตต์ เป็น 511.90 เมกะวัตต์

 

อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้เป็น “A-” (Single A Minus) แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”

บริษัทได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้อยู่ที่ระดับ A-” (Single A Minus) แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) อยู่ที่ระดับ “a”  จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (โดยอันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบจำกัดที่ไม่เกินไปกว่าอันดับเครดิตของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A-/Stable”) ในส่วนของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements : PPA) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านเชื้อเพลิงของบริษัท และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงจากโครงการทดแทนการใช้ถ่านหินด้วยเชื้อเพลิงขยะชุมชน (Municipal Solid Waste-Derived Fuel) โดยคาดการณ์ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าของบริษัท จะมีกระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้น

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ และสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit

บริษัทมีนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2580 โดยมุ่งมั่นทำการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) 100% ที่ผลิตจากขยะชุมชน หรือ เชื้อเพลิงทดแทนอื่น แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหิน ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม และเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับสูงสุดและปลอดภัย ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้บริษัทเป็น “CLEAN&GREEN POWER COMPANY” โดยสมบูรณ์  ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ในอนาคต

โรงกำจัดขยะชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง พร้อมกับการเติบโตในธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะของบริษัท  บริษัทได้ก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะชุมชน ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งเดียวกัน เพื่อแปรรูปขยะทุกรูปแบบ ทั้งขยะชุมชน ขยะเก่า ขยะอุตสาหกรรม และขยะติดเชื้อ เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย

ในปี 2566 บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตโดยก่อสร้างโรงคัดแยกเชื้อเพลิง (โรงงาน 3) ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังผลิตในการรับขยะชุมชนอีกวันละ 3,000 ตัน จากกำลังการผลิตเดิม 9,000 ตันต่อวัน รวมเป็นความสามารถในการรับขยะชุมชน  12,000 ตันต่อวัน  นอกจากนี้ยังมีโรงงานคัดแยกขยะที่บริษัทไปลงทุนตามแหล่งขยะตามจังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับบริษัท  (นอกจังหวัดสระบุรี) เช่น ระยอง ชลบุรี อยุธยา ปทุมธานี  ราชบุรี และ สมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งโรงคัดแยกขยะดังกล่าวมีกำลังการรับกำจัดขยะรวมประมาณ 3,000 - 5,000 ตันต่อวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีความสามารถในการรับขยะชุมชน เพื่อใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงวันละ 15,000 ตัน หรือ ปีละ 4,500,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงขยะแทนถ่านหินในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างการเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะทั้งหมดภายในปี 2568

ก้าวสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียวเต็มรูปแบบ สร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit

บริษัทได้กำหนดพันธกิจที่จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจพลังงานสะอาดสีเขียว โดยการเข้าร่วมเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่างๆที่ภาครัฐจะได้กำหนดเงื่อนไขให้ภาคเอกชนเข้าร่วมรับการคัดเลือก โดยการประมูลโรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ตามที่มีการประกาศโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม รวมถึงพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit

การพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน คุณภาพของสังคม และศักยภาพของพนักงาน

ในปี 2566 บริษัทได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility-CSR) ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วน         ได้เสีย ซึ่งรวมถึงพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นประมาณ 43.34 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดทุนทรัพย์ บริจาคผลิตภัณฑ์กลุ่มทีพีไอโพลีนเพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียน จำนวน 20 โรงเรียน ทั่วประเทศ  ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมและบริจาคผ้าห่มกันหนาวให้กับผู้ประสบภัยหนาวในจังหวัดต่างๆ บริจาควัสดุก่อสร้างให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีวัดต่างๆ  และสนับสนุนน้ำดื่มทีพีไอพีแอลให้แก่กิจกรรมจิตอาสาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

กิจกรรมเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและเพิ่มคุณภาพของสังคม นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีโครงการลดการใช้กระดาษและการนำกลับใช้อย่างคุ้มค่า โครงการรวบรวมขวดพลาสติกภายในองค์กรแทนการทิ้งลงถังขยะชุมชน เพื่อลดขั้นตอนการคัดแยกขยะและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของบริษัท เป็นต้น

บริษัทยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของพนักงาน โดยจัดให้มีการฝึกอบรม เสริมสร้างความรู้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กร เช่น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประสิทธิภาพชุดป้อนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ทักษะในการปฏิบัติงาน การให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างยั่งยืน สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กรได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

การบริหารจัดการด้านความยั่งยืน และการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ในปี 2566 กลุ่มทีพีไอโพลีนได้จัดทำกลยุทธ์และดำเนินธุรกิจตามนโยบายด้านความยั่งยืนที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้นำประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Materiality) ทั้ง 3 ด้าน ซึ่งครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการกำกับดูกิจการที่ดี เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กร ให้บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาความยั่งยืน โดยได้มีการนำประเด็นที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทมาจัดทำรายงานความยั่งยืนปี 2566 ตามมาตรฐานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยรายงานสากล (Global Reporting Initiative : GRI) 

นอกจากนี้ บริษัทได้เข้าร่วมโครงการต้นแบบการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ตามหลักการของ TCFD (Task Force on Climate-related Finance Disclosures) ซึ่งเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนรับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจของบริษัท ซึงคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ โดยบริษัทได้ประเมินความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องใช้เงินทุนเพื่อปรับเทคโนโลยีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซล่าร์ พลังงานลม เป็นต้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% (Renewable Energy Power Plant) จะทำให้ได้ ใบรับรอง REC และเป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ทั้งนี้บริษัทใช้กลยุทธ์คาร์บอนต่ำเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ตามมาจากการเติบโตของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นการสร้างโอกาสในการขาย Carbon Credit ซึ่งจะสร้างโอกาสด้านรายได้แก่บริษัท สังคมจะผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการชาร์จประจุไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบโจทย์กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริม Smart Grid รวมถึงเมืองอัจฉริยะ ต่อไป

 

ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาความยั่งยืน

 ด้วยความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อกระบวนการทำงานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ส่งผลให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับรางวัลและการรับรองจากองค์กรที่เป็นที่ยอมรับ ในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดังนี้

  1. ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ประจำปี 2566 เป็นปีที่ 4 (2561, 2564, 2565 และ 2566) และเป็นบริษัทที่น่าลงทุนในหมวดกลุ่มทรัพยากร จากการประเมินของสถาบันไทยพัฒน์
  2. ได้รับการประเมินความยั่งยืน SET ESG Rating ประจำปี 2566 อยู่ในระดับ AA จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนการดำเนินธุรกิจด้าน ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรวมอย่างยั่งยืน
  3. ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) ประจำปี 2566 ในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors : IOD)
  4. ได้รับรางวัล The International Diamond Prize for Excellence in Quality 2023 จากสมาคมยุโรปเพื่อการวิจัยคุณภาพ (European Society for Quality Research : ESQR) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อยกย่ององค์กรต้นแบบที่มีการดำเนินธุรกิจที่ดี ภายใต้กรอบการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานสากลและสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีอันล้ำสมัย
  5. ได้รับรางวัล CSR จากเวทีระดับโลก 3G Excellence Award in CSR Activities 2023 และ 3G Environmental Responsibility Award 2023 จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Cambridge IFA International Financial Advisory ในสหราชอาณาจักร เพื่อยกย่ององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในชีวิตประจำวัน

ในนามของคณะกรรมการของบริษัท ทีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น ท่านผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงินต่างๆ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ที่ได้ร่วมให้ความสนับสนุน  และให้ความไว้วางใจบริษัทด้วยดีตลอดมา ส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นแรงผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนร่วมกันมุ่งมั่นทุ่มเทความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตลอดจนสังคมไทยโดยรวม โดยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้คนไทยมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา, โครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา, โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา และ โครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1 มีกำหนดการดังนี้

ติดต่อเรา

นโยบายคุกกี้

This website stores cookies to provide you with a better experience of our website, and to enable us to provide you with offers, promotional activities, and personalised content. Use of this website is an acceptance of the terms and consent to us to store cookies in accordance with the policy initially stated. เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงให้เราสามารถมอบข้อเสนอ กิจกรรมส่งเสริมการขาย เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมให้กับคุณอย่างเป็นส่วนตัว การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุกกี้ตามนโยบายที่แจ้งในเบื้องต้น